วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

เล่นอย่างไรจะดีต่อเด็ก

        การเลือกของเล่น จะต้องจัดหาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเล่น และเข้าใจความต้องการตามวัยของลูกน้อยด้วย เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลเด็กที่ใกล้ชิดควรคำนึงถึงหลักต่างๆ ดังนี้


 ของเล่นเด็ก


บทบาทของพ่อแม่
          คุณพ่อคุณแม่ คือคนสำคัญ หลักการเล่นที่ดีนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเล่นกับลูก เพราะคุณพ่อคุณแม่คือของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูก ดังนั้นจึงไม่ควรปล่อยให้ลูกเล่นเองตามลำพังเพราะนอกจากจะได้ดูแลในเรื่องของความปลอดภัยในการเล่นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังมีส่วนอย่างมากในการส่งเสริม สนับสนุน และแนะนำวิธีการเล่นตามสมควร รวมทั้งยังเป็นโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกผ่านการเล่นร่วมกัน พ่อแม่ควรให้คำชมเชยและการแสดงออกซึ่งความภูมิใจ ชื่นชมเมื่อลูกสามารถทำได้ดี ให้กำลังใจยามที่ลูกเล่นไม่ได้อย่างที่ต้องการ เพื่อให้ลูกน้อยมีความสุข มีความภาคถูมิใจ และได้รับประโยชน์จากการเล่นสูงสุด 

โอกาสในการเล่น
           เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นอย่างเสรี โดยการเล่นของเด็กควรเป็นการเล่นที่เด็กริเริ่มคิดจะเล่นเองตามความสนใจ และใช้วิธีการเล่นตามความสามารถที่มีของเขา ไม่ควรพยายามยัดเยียดให้เด็กเล่นตามสิ่งที่พ่อแม่เป็นผู้เลือกให้แต่ฝ่ายเดียว เพราะจะทำให้เด็กเครียด ไม่มั่นใจในตนเอง ไม่สนุกกับการเล่น กลัว ไม่กล้าคิดริเริ่มหรือคิดต่างจากคนอื่นๆ ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาสูงสุด 

ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นอย่างพอเหมาะ โดยในขณะที่เล่น พ่อแม่อาจสาธิตหรือแนะนำให้เด็กฟังถึงวิธีการเล่นที่ควรจะเป็นและปลอดภัย การเล่นร่วมไปกับเด็กจะเป็นวิธีการที่จะทำให้เด็กซึมซับ เห็นตัวอย่างการเล่นที่เหมาะสม เข้าใจวิธีการเล่น และยังสร้างความผูกพัน ความเข้าใจ การยอมรับซึ่งกันและกันระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูก อย่างไรก็ตามควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นเองตามความคิดโดยอิสระบ้าง เพราะการเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดจากผู้เรียนได้ค้นพบความรู้ด้วยการปฏิบัติจริงไม่ใช่จากคำบอกกล่าวของผู้อื่น 

ความเหมาะสมต่อพัฒนาการตามวัย
          นอกจากในเรื่องของความสนใจแล้วนั้น การเล่นต้องเหมาะสมกับระดับอายุและวัยของเด็กเพื่อช่วยในการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กอย่างเต็มที่ ซึ่งเด็กไม่ควรเล่นกับของเล่นที่ยากหรือง่ายเกินไปต่อทักษะความสามารถของวัยนั้นๆ เพราะถ้ายากไปจะทำให้บั่นทอนกำลังใจของเด็ก หรือไม่ก็รู้สึกเบื่อกับการเล่น ซึ่งหากง่ายไปเด็กจะไม่รู้สึกท้าทายและทำให้เบื่อที่จะเล่นกับสิ่งนั้น

การให้เด็กได้ฝึกเล่นซ้ำ เล่นบ่อยๆ จนเกิดความชำนาญ และมีความมั่นใจต่อสิ่งที่เล่น จะช่วยให้เด็กสนุกสนาน เข้าใจตนเอง และรู้จักตนเองมากยิ่งขึ้นจากการที่ได้ค้นพบพัฒนาการของการเล่นไปตามศักยภาพของตนโดยไม่ได้รับแรงกระตุ้นมากเกินไป 
ของเล่นไม่ใช่อยู่ที่ปริมาณ หรือราคา แต่อยู่ที่คุณภาพที่ได้รับจากการเล่น คุณพ่อคุณแม่จึงไม่จำเป็นต้องนำของเล่นมาให้เด็กเล่นจำนวนมากๆ แต่สามารถนำมาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้เด็กได้เล่นเป็นคราวๆ ไป การหมุนเวียนในแต่ละครั้งทำให้เด็กไม่เบื่อการเล่นของเล่นชิ้นนั้นเร็ว แต่จะตื่นตัวที่จะเรียนรู้ผ่านการเล่นของเล่นนั้นด้วยวิธีการใหม่ๆ แตกต่างไปจากเดิมในแต่ละครั้ง

แบ่งกันเล่น
            การปลูกฝังนิสัยลูกให้มีความเอื้อเฟื้อทำได้ตั้งแต่ยังเล็ก โดยสอนให้ลูกรู้จักการผลัดกันเล่นของเล่น หรือแบ่งให้เพื่อนเล่นด้วย เด็กอายุประมาณ 2 ขวบ อาจจะยังไม่เข้าใจเต็มที่เกี่ยวกับผลของการแบ่งปันที่มีต่อความรู้สึกของเด็กคนอื่น แต่สำหรับเด็ก 5 ขวบ แน่นอนว่ารู้จักความแตกต่างระหว่างการแบ่งหรือไม่แบ่งให้เพื่อนเล่นของเล่นของเรา เด็กจะรู้สึกดีเมื่อแบ่งของเล่นแล้วได้เพื่อนเล่นเพิ่มขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจสร้างสถานการณ์จำลองเพื่อให้เด็กเห็นข้อดีของการแบ่งปันของเล่นให้เพื่อนๆ เล่น โดยอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างของเล่นบางอย่างที่เราเล่นร่วมกันได้ และของเล่นชิ้นพิเศษบางอย่างที่เราก็สามารถเก็บไว้เล่นคนเดียวได้ด้วยเช่นกัน เช่น ผ้าห่มผืนโปรด หรือตุ๊กตาหมีที่คุณแม่ซื้อให้ 

จัดสภาพแวดล้อม
         คุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างบรรยากาศให้เหมาะสมกับการเล่น เช่น การจัดหาของเล่นหรืออุปกรณ์การเล่นที่เด็กสนใจให้มีความเพียงพอและหลากหลาย เอื้อต่อการได้ใช้ประสาทสัมผัสส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อให้การพัฒนาประสานกันได้อย่างสมดุลและแข็งแรง การเลือกและจัดมุมใดมุมหนึ่งของบ้านให้เป็นบริเวณสำหรับการเล่น พร้อมกับจัดหมวดหมู่ของของเล่นให้เป็นระเบียบและมีระบบในการจัดเก็บที่เด็กสามารถจัดเก็บได้ด้วยตนเองอันเป็นการฝึกวินัยให้กับเด็กไปในตัว ขณะที่เล่นควรปล่อยให้เด็กเล่นอย่างอิสระโดยอยู่ในสายตาของคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลใกล้ชิด ซึ่งต้องคอยดูแลในเรื่องความปลอดภัยของของเล่น สถานที่ และวิธีการเล่นของเด็กให้เป็นไปตามกติกา ไม่ให้เด็กแย่งของเล่นกัน และควรชี้แนะวิธีการเล่นที่ถูกต้อง


บทความจาก : iambebebe 
ขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : www.be-bebe.com  
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่ : ของเล่นเด็ก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น